การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน
Abstract
การสำรวจข้อมูลด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ในอีกแนวทางที่สามารถจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมีข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการขยะของชุมชน พอสรุปได้ คือ 1) ความพอประมาณ ประกอบด้วย การใช้สิ่งของที่จำเป็น เพียงพอต่อความเป็นอยู่ มีอาหารที่พอประมาน ใช้สอยสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคเพียงพอสำหรับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ไม่ให้เหลือใช้จนกลายเป็นขยะ และล้นไปก่อความลำบากให้กับบุคคลอื่น เป็นต้น 2) ความมีเหตุผล คือ การคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ การบริหารจัดการขยะของชุมชนก็เช่นเดียวกัน หากรู้ถึงเหตุและผลว่า บ้านเรือนใดมีขยะที่เกินจากการควบคุมก็จะส่งผลต่อไปเป็นขยะของชุมชน การแก้ไขปัญหาก็จะยุ่งยากมากขึ้น 3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ เช่น การสร้างทัศนคติ การสร้างเจตคติถึงปัญหาขยะมูลฝอยและช่วยกันหาทางป้องกันปัญหาให้กับคนในชุมชนก็เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนเช่นเดียวกัน การมีกฎระเบียบ กฎหมาย ข้อตกลง มติทางสังคมที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูล เป็นต้น 4) เงื่อนไขความรู้ คือการมีความรอบรู้เกี่ยวกับ วิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เช่น คนในชุมชน ผู้นำ องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการรับรู้ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รู้จักค้นคว้า เทคนิค วิธีการ เทคโนโลยีหรือแนวทางในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีในชุมชนนั้นอย่างชาญฉลาด การหากลไก/เครื่องมือในการสร้างระบบการพัฒนาหมู่บ้านชุมชน ให้สนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยีในการพัฒนาบริหารจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน และ 5) การมีคุณธรรม คือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต การจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ต้องตั้งบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ตั้งใจ มีความอดทนต่อการแก้ปัญหา อนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของชุมชนก็เช่นกัน ทุกคนต้องมีคุณธรรม ไม่ก่อปัญหาให้คนอื่น ชุมชนอื่น รักษากฎกติกาของชุมชน กฎหมายของรัฐ ปฏิบัติตามมติข้อตกลงของสังคมอย่างเคร่งครัด เช่น การทิ้งขยะในถังขยะ การจ่ายค่าบริการการจัดเก็บขยะ การไม่สร้างภาระขยะให้กับครัวเรือนอื่นๆ เป็นต้น