การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) ทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด 2) เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ของประชาชนที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และประกอบอาชีพ ต่างกัน และ3) เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากร และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประชาชนซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประชาคมของหมู่บ้าน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลกรรมการหมู่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอาชีพทุกกลุ่ม ผู้แทนกลุ่มเกษตร ผู้แทนกลุ่มแม่บ้าน อสม. สมาชิก อปพร.และประชาชนในหมู่บ้าน จำนวน 244 คน กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรการคำนวณของทาโร ยามาเน (Taro Yamane) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 152 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าห้าระดับ มีค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับ (Reliability) เท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และสถิติอนุมานหรืออ้างอิง (Inferential Statistics) ได้แก่ การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) หรือ F – test โดยใช้โปแกรมสำเร็จรูป ส่วนในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) สัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informant interview) เลือก กลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง (Purposive Selection) จำนวน 12 คน ได้แก่ กำนันตำบลหินกอง และผู้ใหญ่บ้านในตำบลหินกอง จำนวน สิบเอ็ดคน เครื่องมือที่ใช้ในการสัมภาษณ์ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured or guided interviews) กล้องถ่ายรูป และเทปบันทึกเสียง
ผลการวิจัยพบว่า 1) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน อยู่ในระดับปานกลางทั้งสี่ด้าน เรียงจากด้านที่มีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการร่วมกำหนดปัญหาและความต้องการ ด้านการร่วมจัดทำแผนและโครงการ ด้านการร่วมตรวจสอบแผนพัฒนา และด้านการร่วมติดตามประเมินผล ตามลำดับ 2) ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ประชาชนที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และประกอบอาชีพ ต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวม และรายด้าน ไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้ และ3) ข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดลำดับตามความถี่สูงไปหาต่ำ สามอันดับแรก ได้แก่ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงานในแผน และโครงการต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอ มากยิ่งขึ้น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบร่างแผนพัฒนา โดยให้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านเนื้อหาสาระของร่างแผนพัฒนา ต่อคณะกรรมการจัดทำแผนฯ มากยิ่งขึ้น และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย รูปแบบการจัดทำแผน และโครงการให้ตรงกับความต้องการของชุมชน มากยิ่งขึ้น