ฟ้อนแม่บทอีสาน : แม่ท่าการฟ้อนพื้นเมืองอีสานสู่กระบวนการนาฏยประดิษฐ์
FORN MAE BOT ISAN: MAIN POSTURE OF ISAN FOLK DANCE TO THE PROCESS OF ARTIFICIAL DANCE
Abstract
การวิจัยเรื่องฟ้อนแม่บทอีสาน : แม่ท่าการฟ้อนพื้นเมืองอีสานสู่กระบวนการนาฏยประดิษฐ์ มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาความเป็นมาและองค์ประกอบของฟ้อนแม่บทอีสาน 2)เพื่อศึกษาความหมายและกระบวนท่าฟ้อนแม่บทอีสาน 3)เพื่อศึกษาแนวทางการประกอบสร้างนาฏยประดิษฐ์จากท่าฟ้อนแม่บทอีสาน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากการสัมภาษณ์ การสังเกต และการสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้รู้ด้านการแสดงพื้นบ้าน จำนวน 4 คน ด้านดนตรีพื้นบ้าน จำนวน 1 คน ผู้สร้างสรรค์งานด้านการแสดงพื้นบ้านจำนวน 6 คน ข้อมูลภาคสนามได้จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ และนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า ท่าฟ้อนแม่บทอีสานได้มีการศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงท่าฟ้อนลำต่างๆ และแบ่งออกเป็นหมวดหมู่โดยหมอลำฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ) อาจารย์ทองจันทร์ สังฆะมณี อาจารย์ทองคำ ไทยกล้า และอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) โดยวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ปี พ.ศ.2525 มีนโยบายให้รวบรวมท่าฟ้อนของคนอีสานจากสิ่งต่างๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวอิริยาบถของสัตว์ จากธรรมชาติ จากท่าทางตามวิถีชีวิต จากวรรณกรรมท้องถิ่น รวมทั้งหมด 48 ท่า แล้วจัดทำเป็นท่าฟ้อนแม่บทแบบมาตรฐานของอีสานเพื่อใช้การเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์พื้นเมือง ซึ่งฟ้อนแม่บทอีสานมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ท่าฟ้อน บทร้อง ดนตรีประกอบ เครื่องแต่งกาย ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางการสร้างสรรค์นาฏศิลป์พื้นเมืองอีสานได้ด้วยวิธี 1)การตีความและแปลความหมาย โดยต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดและรูปแบบของการแสดง 2)การเลือกใช้แม่ท่าจากฟ้อนแม่บทอีสาน โดยเลือกใช้ท่าที่สื่อความหมายเข้ากับบทร้อง เช่น ท่ากาตากปีก ใช้เป็นท่าในการเชิญชวน 3)การสร้างความสัมพันธ์กับท่าเชื่อมและท่าสร้างสรรค์ โดยการใช้ท่าฟ้อนที่สามารถเคลื่อนที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ สรุปกระบวนท่าฟ้อนแม่บทอีสานเป็นแม่ท่าหลักที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการประกอบสร้างนาฏยประดิษฐ์ แต่ต้องคำนึงถึงความหมายของท่าและเลือกใช้ให้ความสัมพันธ์กับท่าเชื่อมและท่าสร้างสรรค์จึงจะเกิดสุนทรียภาพของการแสดง
References
นพพล ไชยสน. (2562). กรับในวัฒนธรรมดนตรีลุ่มน้ำโขง. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
พร ยงดี. (2555). อัตลักษณ์การลำของศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พีรพงศ์ เสนไสย. (2546). นาฏยประดิษฐ์. กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์.
ศิราภรณ์ ปทุมวัน. (2542). บทบาทของหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สวภา เวชสุรักษ์. (2547). หลักนาฏยประดิษฐ์ของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงค์เสนี. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สิทธิรัตน์ ภู่แก้ว. (2550). การฟ้อนเกี้ยวของหมอลำกลอนวาดอุบลราชธานี. คณะศิลปกรรมศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อารี พันธ์มณี. (2537). ความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 1412.
Field. (1971). Folk Dance. The World Book Encyclopedia. 7(12). 180.