ภาวะผู้นำแบบโปรแอคทีฟสำหรับศตวรรษที่ 21

  • ภัทรพร อรัญมาลา Independent academic

Abstract

ในยุคศตวรรษที่ 21 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากทั้งด้านเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมความเชื่อสิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยง ส่งผลกระทบต่อกันอย่างต่อเนื่องไปทั่วทั้งโลกหรือโลกาภิวัฒน์ (Globalization) การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องมีการก้าวไปข้างหน้าและมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคคลสามารถดำรงอยู่ในสังคมเป็นพลวัตรนี้ได้อย่างปกติสุข รัฐบาลในทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเป็นลำดับต้นๆ สอดคล้องกับองค์สหประชาชาติที่ได้ตั้งเป้าหมายหลักที่ 2 ในด้านการศึกษา อันเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างทั่วโลกๆร่วมกันกำหนดและต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในปี 2558 นี้ คือการที่มุ่งหวังที่จะให้เด็กได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ถึงแม้รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนทางการศึกษามากขึ้นทุกระดับ เพื่อทำให้เยาวชนไทยมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง แต่ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของไทยยังทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลการประเมิน The Learning Curve Index ปี 2557 ของนักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย จำนวน 40 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศเกาหลีใต้ได้อันดับ 1 ญี่ปุ่นอันดับ 2 สิงคโปร์อันดับ 3 ฮ่องกงอันดับ 4 ส่วนประเทศไทยอันดับ 35 พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ คุณภาพผู้สอน โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเรามาโดยตลอด ซึ่งปัญหาหลักของระบบการเรียนการสอนของไทยคือการสอนให้ท่องจำ ไม่มีทักษะในการคิดและวิเคราะห์ ทำให้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียนได้ออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ถึงความจำเป็นของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาค และสร้างอาเซียนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียมนั้น (ASEAN online, 2005) ส่งผลให้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ปัจจัยหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพครูซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปข้างต้นประสบความสำเร็จ (Reimers, 2003)  สอดคล้องกับ อัครเดช นีละโยธินและคณะ (2559) ได้กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัตน์การบริหารและการจัดการศึกษาของของโรงเรียนหรือสถานศึกษา จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการผลิตนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามคุณลักษณะที่อันพึงประสงค์ของสังคม ผู้บริหารเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย ทำให้ภารกิจที่ต้องบริหารจัดการและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้เหมาะสมกับยุคที่เต็มไปด้วยความสลับซับเพิ่มเป็นทวีคูณตามไปด้วยจนเกินกำลังความสามารถของผู้นำเพียงคนเดียวที่จะรับมือได้

Published
2020-06-30
How to Cite
อรัญมาลา, ภัทรพร. ภาวะผู้นำแบบโปรแอคทีฟสำหรับศตวรรษที่ 21. วารสารวิชาการพระพุทธศาสนาเขตลุ่มน้ำโขง, [S.l.], v. 3, n. 1, p. 12-24, june 2020. ISSN 2465-5465. Available at: <http://ojs.mbu.ac.th/index.php/bmrj/article/view/1229>. Date accessed: 19 may 2024.